บทความอินไซด์ อินเดีย ตอนที่ 3 ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ สำหรับ pdf ไฟล์ สามารถอ่านได้ ที่นี่
ชาญชัย จรัญวัฒนากิจ กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน อินเดีย แนะช่องทางลงทุนในไฮเดอราบาด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีธุรกิจไทยเข้าไปบุกเบิก
ไฮเดอราบาด มีสมญานามว่า "นครแห่งไข่มุก" เป็นเมืองหลวงของรัฐอานธรประเทศ ตั้งอยู่บนที่ราบสูงเดคคาน ใกล้เมืองมัทราส หรือเจนไน ที่คนไทยคุ้นเคยมากกว่า ถือเป็นเมืองสำคัญที่อยู่ใจกลางของชมพูทวีป
หากนึกไม่ออกก็โปรดหลับตาและสมมติว่า ตัวท่านอยู่ที่จังหวัดพิจิตร และหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ผ่านพม่า ข้ามทะเลอันดามัน เข้าสู่ชมพูทวีป ชั่วระยะเวลาเพียง 3 ชั่วโมง 30 นาทีทางเครื่องบิน ซึ่งการบินไทยมีบริการเที่ยวบินตรงมานานแล้ว ท่านก็จะเดินทางถึงท่าอากาศยาน ราจีฟ คานธี สนามบินใหม่เอี่ยม สวยงาม สะอาดสะอ้าน ที่ตั้งชื่อตามอดีตนายกรัฐมนตรีรูปงามของอินเดีย
ระยะทางจากท่าอากาศยาน เข้าสู่ตัวเมืองประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นทางด่วนลอยฟ้า ข้างละ 4 เลนแบบในสหรัฐ ไม่บอกไม่รู้ว่ามาถึงอินเดียแล้ว
เมืองไฮเดอราบาดมีประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนาน มีวัฒนธรรมที่เลื่องชื่อและสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ผสมผสานระหว่างศิลปะแบบมุสลิมทางตอนเหนือ และฮินดูทางตอนใต้ เป็นการประสานอดีตและปัจจุบันอย่างลงตัว
ไฮเดอราบาดมีฐานะร่ำรวยมากในอดีต จากประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2267 เจ้าผู้ครองรัฐไฮเดอราบาด หรือเรียกว่า นิซาม-อูล-มูลค์ ราชวงศ์อาซาฟ จาห์ แยกตัวเป็นอิสระจากจักรพรรดิมูกัลของอินเดีย และปกครองไฮเดอราบาดกว่า 2 ศตวรรษ
ต่อมาในปี 2332 นิซาม-อูล-มูลค์ ราชวงศ์อาซาฟ จาห์ ได้รับการยอมรับจากจักรวรรดิอังกฤษ ให้เป็นหนึ่งในรัฐที่ปกครองโดยเจ้าผู้ครองนคร ภายใต้จักรวรรดิอังกฤษ
เมื่ออินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ นิซาม-อูล-มูลค์ ราชวงศ์อาซาฟ จาห์ องค์ที่ 7 ไม่ยอมรวมตัวอยู่ภายใต้อินเดีย แต่อยากไปรวมกับปากีสถานมากกว่า เนื่องจากชาวเมืองไฮเดอราบาดส่วนใหญ่เป็นมุสลิม
อย่างไรก็ตาม กองทัพอินเดียสามารถบังคับให้ไฮเดอราบาดยอมแพ้ และยินยอมเข้ารวมเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ในปี 2491 ไฮเดอราบาดจึงกลายเป็นเมืองหลวงของรัฐอานธรประเทศมาจนบัดนี้
ในอดีต รัฐไฮเดอราบาดเป็นแหล่งธุรกิจค้าเพชรและไข่มุก มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งเหมืองเพชร และป่าไม้ จนทำให้ นิซาม-อูล-มูลค์ ราชวงศ์อาซาฟ จาห์ องค์ที่ 7 ได้รับการยอมรับว่าเป็นเจ้าผู้ครองนครที่ร่ำรวยที่สุดในโลก
จากการเป็นเมืองที่ร่ำรวยมาแต่อดีต เมืองไฮเดอราบาดในปัจจุบันจึงมีอาคารสถานที่ท่องเที่ยวมากมายหลายแห่ง สมควรแก่การเยี่ยมชม สถานที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาด คือ พิพิธภัณฑ์ซาลาร์ จุง ซึ่งรวบรวมสิ่งของต่างๆ ทั้งรูปวาด รูปปั้น เซรามิค พรมทอ เครื่องเรือน กว่า 3,000 ชิ้นจากทั่วโลก เป็นของสะสมส่วนตัวของซาลาร์ จุง ที่ 3 อดีตนายกรัฐมนตรีของไฮเดอราบาด
พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเป็นแหล่งแสดงของสะสมของบุคคลคนเดียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ของแสดงที่น่าสนใจภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีมากมาย อาทิเช่น นาฬิกาโบราณจากยุโรป หยกและผลิตภัณฑ์จากหยก กริชของจักรพรรดิจาฮันจีร์ แห่งราชวงศ์มูกัล และรูปปั้นหินอ่อนหญิงสาวคลุมผ้า โดย จีบี เบนโซนี ที่เรียกว่างดงามกว่ารูปปั้นดาวิดที่เมืองฟลอเรนซ์ก็ว่าได้
สถานที่เที่ยวต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอื่นๆ ก็มี หอคอยชาร์มินาร์อันมีชื่อเสียง ถือเป็นสัญลักษณ์ของไฮเดอราบาด อยู่ข้างมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย สามารถจุคนได้กว่า 10,000 คน วัดฮินดูขาวบีร์ลา มันดีร์ พระราชวังเชาว์มาฮัลลา พระราชวังที่ประทับของนิซาม-อูล-มูลค์ ราชวงศ์อาซาฟ จาห์
ส่วนสถานที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ยุคสมัยศตวรรษที่ 11 ได้แก่ ป้อมปราการโกลคอนดา ซึ่งจะทำให้ท่านสามารถจินตนาการถึงความยิ่งใหญ่เรืองอำนาจในอดีต และอิทธิพลของเปอร์เซียที่มีต่ออินเดีย ขณะที่ ผู้ชื่นชอบภาพยนตร์อินเดียสามารถเยี่ยมชมโรงถ่ายภาพยนตร์ขนาดมหึมา ที่ ราโมจี ฟิล์ม ซิตี้ ชานเมืองไฮเดอราบาด
เนื่องจากเจ้าผู้ครองรัฐไฮเดอราบาดขึ้นชื่อว่าร่ำรวยที่สุด จึงมีการสร้างพระราชวังที่ประทับนับสิบแห่งในยุคนั้น กลุ่มธุรกิจโรงแรมทัช ของอินเดีย ได้รับสัมปทานให้บูรณะซ่อมแซม พระราชวังฟาลักนูมา ปรับปรุงเป็นโรงแรมระดับ 7 ติดอันดับ 1 ใน 10 โรงแรมที่ดีที่สุดในโลก ให้บริการแขกชั้นสูง ด้วยบรรยากาศและการบริการดุจดั่งสมัยของ นิซาม-อูล-มูลค์ ราชวงศ์อาซาฟ จาห์ องค์ที่ 5 ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเจ้าผู้ครองนครที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในสมัยนั้น ขนาดที่ทับกระดาษก็ทำด้วยโคตรเพชร
ปัจจุบัน ไฮเดอราบาดเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของอินเดีย มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจด้านบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ บริการเอาท์ซอร์สผู้มีความรู้สูง (เคพีโอ) ศูนย์คอลล์เซ็นเตอร์ การก่อสร้าง เภสัชภัณฑ์ ไบโอเทค การค้า การขนส่ง คลังสินค้า และการสื่อสาร
นอกจากนั้น ไฮเดอราบาดยังเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของอินเดีย นักชิมต้องไม่พลาด ข้าวหมกไก่และแพะที่อร่อยที่สุดในอินเดีย โดยเฉพาะร้านพาราไดซ์ มีสาขาให้คนซื้อกลับบ้านหลายแห่ง ต่อไปคนที่นิยมซื้อเป็ดย่างจากลอนดอนแล้วเริ่มเบื่อ ขอแนะนำให้ลองซื้อข้าวหมกไฮเดอราบาดแทน
นายนารา จันทราบาบู ไนดู มุขมนตรีของรัฐอานธรประเทศช่วงปี 2538-2547 เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล พัฒนาเมืองไฮเดอราบาดให้เป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาและบริการไอที
นายไนดู เชิญชวนให้มีการสร้างวิทยาลัยธุรกิจนานาชาติ (ไอเอสบี) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านการบริหารที่ทันสมัย โดยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาด้านบริหารที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ อาทิเช่น สถาบันบริหารธุรกิจเคลลอก แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น และสถาบันธุรกิจวอร์ตัน แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย บนที่ดินว่างเปล่ากว่า 260 เอเคอร์ ชานเมืองไฮเดอราบาด ห่างจากตัวเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร
ขณะเดียวกัน ก็มีการพัฒนาที่ดินบริเวณใกล้เคียงให้กลายเป็น "ไฮเทค ซิตี้" ซึ่งย่อมาจาก ไฮเดอราบาด อินฟอร์เมชัน เทคโนโลยี เอนจิเนียริง คอนซัลแทนซี ซิตี้ มีบริษัทชั้นนำของโลกไปตั้งสำนักงานอยู่ อาทิเช่น ไมโครซอฟท์ ยาฮู กูเกิล อินโฟซิส เอชซีแอล ไวโปร เป็นต้น
บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ ทำให้เมืองไฮเดอราบาดก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านบริการไอทีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของเอเชียใต้ รองจากเมืองบังคาลอร์ และเมืองเจนไน นอกจากนั้น ไฮเดอราบาด ยังสถาปนาเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองโอซากา ของญี่ปุ่น และเมืองดูไบ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้วย
แม้ไฮเดอราบาดมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก แต่ต่างชาติกำลังจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากการขอแบ่งแยกดินแดนในส่วนของเขตเทลันกานา ภายในรัฐอานธรประเทศ โดยกลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหว เช่น ทีอาร์เอส และเอ็นทีพีพี ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้
การลงทุนใหม่อาจชะลอตัวลงไปบ้างเพื่อรอความชัดเจนทางการเมือง แต่ผู้ประกอบการไทยก็ควรหาโอกาสศึกษาเมืองนี้ เพราะที่นี่เป็นแหล่งวัตถุดิบเครื่องประดับขนาดใหญ่ อีกทั้งประวัติศาสตร์อันยาวนานยังมีมนต์เสน่ห์ชวนให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาไม่ขาดสาย ความเจริญทางด้านไอทีดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาอยู่ที่เมืองนี้
ธุรกิจบริการของไทย เช่น โรงแรม ร้านอาหาร มีโอกาสเติบโตได้ ปัจจุบันยังไม่มีธุรกิจของคนไทยในไฮเดอราบาด แต่เมืองนี้อยู่ภายใต้การดูแลของสถานกงสุลใหญ่ ณ เจนไน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงมีแขนขาที่พอช่วยเหลือได้ หากสนใจจะมาบุกเบิกธุรกิจในเมืองนี้ และเว็บไซต์ http://thaiindia.net/home.php ยินดีเป็นแหล่งข้อมูล เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง
กรุงเทพธุรกิจ: อินไซด์อินเดีย (ตอน 1) กระต่ายจีน vs กบอินเดีย
กรุงเทพธุรกิจ: อินไซด์อินเดีย (ตอน 2) ตลาดอินเดีย อยู่ตรงไหน