ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอน 10)
อาหารไทย หนึ่งในแบรนด์หลักของประเทศที่ปักธงอยู่ทั่วโลก แต่ที่อินเดียมีร้านอาหารไทยอยู่เพียง 60 กว่าร้าน นับได้ว่าเป็นจำนวนที่น้อยกว่าศักยภาพที่แท้จริง
แม้จะมีจุดคล้ายระหว่างอาหารไทยกับอาหารอินเดียอยู่ที่เครื่องเทศ เครื่องแกง แต่ก็มีความแตกต่างที่ถึงกับทำให้รสชาติอาหารเพี้ยนไปเลยทีเดียว นั่นก็คือ น้ำปลากับเกลือ
คนอินเดียไม่ทานน้ำปลา ส่วนคนไทยไม่นิยมใส่เกลือในอาหารเท่าใส่น้ำปลา นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดของส่วนผสมอย่างใบกระเพราซึ่งคนไทยแค่ได้เห็นกระเพราไก่ไข่ดาว เป็นน้ำลายสอ แต่คนอินเดียถือว่ากระเพราเป็นใบไม้ศักดิ์สิทธิ์ ไว้บูชาพระเจ้า ที่เมืองนิวเดลีปลูกต้นขี้เหล็กในแง่ของผังเมือง แต่หารู้ไม่ว่าคืออาหารชั้นเยี่ยมของคนไทย
แกงไทยหากจะมาขายที่อินเดียคงต้องเพิ่มความข้น ส่วนขนมหวานที่อินเดีย น้ำตาลเรียกพี่ และที่สำคัญคนอินเดียส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัติ ดังนั้นความสามารถในการดัดแปลงรูปลักษณ์อาหารของไทย นำมาใช้ได้ ยกครัวตอนเทศกาลกินเจมาได้เลย
คนอินเดียชอบความบันเทิง ดังนั้นการสอดแทรกการเดี่ยวขิม เดี่ยวซอ นอกจากจะช่วยสร้างบรรยากาศแล้ว ยังเป็นการแนะนำศิลปวัฒนธรรมไทยให้ชาวอินเดียได้รู้จักด้วย
อาหารไทยในความรู้สึกของคนอินเดีย ถูกยกระดับเป็นอาหารมีระดับ ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยอยากจะเจาะกลุ่มคนมีฐานะ ควรลองไปทำความรู้จักกับโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวของอินเดีย และที่สำคัญบริษัทรับจัดงานแต่งงาน เพราะงานแต่งงานเป็นงานสำคัญที่สุดในชีวิตคนอินเดีย ธุรกิจรับจัดงานแต่งงานมีอยู่ทุกหัวถนน และการมีอาหารไทยเสิร์ฟในงานแต่งงานเป็นการตอกย้ำความมีระดับของเจ้าภาพ
นอกจากนี้ จุดเด่นของอาหารไทยยังสามารถทำแบรนด์ได้ต่อในเรื่องการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ บริษัทใหญ่ๆ มักมีงานเลี้ยงเสมอ ไม่ว่าเล็ก ไม่ว่าใหญ่ เพื่อแสดงความมีฐานะ เช่น งานเปิดตัวสินค้าใหม่ งานวันเกิด งานเลี้ยงอำลา ดังนั้น การทำตลาดเจาะไปยังบริษัทไอที ซอฟท์แวร์ บริษัทชาติต่างๆ ที่รู้จักอาหารไทยดีอยู่แล้ว น่าจะเป็นช่องทางที่สดใสทีเดียว
ในช่วงที่อาหารไทยยังเป็นที่รู้จักอยู่เฉพาะกลุ่ม ผู้ประกอบการควรมองหาทำเลที่ลูกค้ามีกำลังซื้อระดับกลาง-สูงเป็นการเฉพาะ ถ้าเป็นมุมไบก็ต้องเป็นแถวครอว์ฟอร์ด หรือถนนเรียบทะเล สุดโรแมนติก แต่ถ้าเป็นนิวเดลี ก็ต้องเป็นแถวๆ ถนนจันทร์ปัต สำหรับเมืองเจนไนก็ต้องเป็นทำเลแถวถนนชาร์เมียร์ หรือ ถนนตีนาคาร์
ในส่วนของวัตถุดิบ ผู้ประกอบการควรติดต่อกับผู้นำเข้าวัตถุดิบจากไทยโดยตรงเพื่อลดต้นทุนการดำเนินการ สำหรับผู้นำเข้าวัตถุดิบและอาหารไทยในอินเดียพอมีบ้างตามเมืองสำคัญๆ สนใจรายละเอียด สอบถามมาได้ทาง thaiindia.net
สุดท้ายก็มาถึงตอนยาก นั่นคือกฎระเบียบในการเปิดร้านอาหารในอินเดีย เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้องมากมายที่ผู้ประกอบการต้องไปขออนุญาต และที่อาจจะแวะเวียนมาหาโดยไม่ได้นัดหมาย ในเบื้องต้น ร้านอาหารจะต้องมีใบอนุญาต ใบอนุญาตประกอบการ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันการปลอมปนอาหารปี ค.ศ. 1954 ต้องขอขึ้นทะเบียนเปิดร้านอาหาร แจ้งฝ่ายตำรวจจราจร และอาจต้องยื่นใบคำร้องต่อกรมการท่องเที่ยวของรัฐบาล และหากต้องการขายสุรา ก็ต้องยื่นขออนุญาตต่างหาก นอกจากนี้ ยังต้องยื่นใบสมัครประกอบการกับหน่วยงานที่ควบคุมมลภาวะทางอากาศและน้ำ และมลภาวะทางเสียง ใบอนุญาตประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับดนตรี การขอใช้กระแสไฟฟ้าและน้ำ ใบอนุญาตการใช้ลิฟต์ ฯลฯ เรียกได้ว่าการจะเปิดร้านอาหารแห่งหนึ่ง อาจจะต้องมีใบอนุญาตหลายสิบใบ ดังนั้นหากผู้ประกอบการสนใจจะเปิดร้านอาหารในอินเดีย ควรมีผู้ร่วมทุนเป็นชาวอินเดียเพื่อให้สามารถเข้าใจกฎระเบียบข้อบังคับการเปิดร้านอาหารของอินเดียได้ง่ายขึ้น หรือมีที่ปรึกษาที่ชำนาญในการทำธุรกิจในอินเดีย
ดร.ไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ
ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเจนไน
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง
เปิดตัวคอลัมน์มองอินเดียใหม่ (ตอน 1)
มองอินเดียใหม่ (ตอน 2): งมขุมทรัพย์กับพิธีกรรมของชาวอินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 3): เปิดเสรีธุรกิจค้าปลีก หนังยาวที่ไทยอย่ามัวแต่รอดู
มองอินเดียใหม่ (ตอน 4): เมื่อชาวอินเดียเปลี๊ยนไป๋
มองอินเดียใหม่ (ตอน 5): ขุมทองยางไทยกับตลาดกำลังโตในอินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 6): เอกชนไทยบุกอินเดีย ภาครัฐช่วยได้ตรงไหน
มองอินเดียใหม่ (ตอน 7): มองอินเดียเพียงด้านเดียว ปิดโอกาสรู้จักโลกครึ่งใบ
มองอินเดียใหม่ (ตอน 8): การบริหาร Mr. & Mrs. Right หนึ่งตัวแปรสำคัญทำธุรกิจในอินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 9): เบียร์ไทยที่ไปไกลทั่วโลก แต่มาไม่ถึงอินเดียซะทีเดียว
มองอินเดียใหม่ (ตอน 11): ทำการบ้านล่วงหน้ากับดิวาลี ปีใหม่อินเดีย