อินเดีย - กฎหมาย Companies Act 2013 มาตรา 135 ซึ่งจะบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2558 กำหนดให้บริษัทที่ประกอบกิจการในอินเดีย ซึ่งมีส่วนของผู้ถือหุ้น (net worth) 5,000 ล้านรูปี (INR 500 crore) ขึ้นไป หรือมี turnover 10,000 ล้านรูปีขึ้นไป (INR 1,000 crore) หรือมี ผลกำไรสุทธิ 50 ล้านรูปี (INR 5 crore) ขึ้นไป ใน 1 รอบปีบัญชี (financial year) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับ CSR ดังนี้
(1) จัดตั้งคณะกรรมการ CSR เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการบริหารบริษัท และให้ประกอบด้วยกรรมการบริหารอย่างน้อย 3 คน โดยอย่างน้อย 1 คนต้องเป็นกรรมการอิสระ
(2) ให้เปิดเผยองค์ประกอบของคณะกรรมการ CSR ในรายงานคณะกรรมการบริหารตามมาตรา 134 (3)
(3) ให้คณะกรรมการ CSR ดำเนินการ ดังนี้
(เอ) จัดทำและเสนอแนะนโยบาย CSR ของบริษัท โดยระบุกิจกรรม CSR ที่บริษัทจะดำเนินการ ตามที่แสดงใน Schedule VII
(บี) เสนอแนะค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินกิจกรรมที่ระบุตาม (เอ)
(ซี) ติดตามตรวจสอบนโยบาย CSR ของบริษัทเป็นระยะ
(4) ให้คณะกรรมการบริหาร
(เอ) พิจารณาอนุมัตินโยบาย CSR จากนั้น นำไปเผยแพร่ในรายงานของคณะกรรมบริหารและในเว็บไซต์ของบริษัท (หากมี)
(บี) กำกับดูแลให้มีการดำเนินการตามนโยบาย CSR
(5) ให้คณะกรรมบริหารกำกับดูแลให้บริษัทใช้จ่ายเงินอย่างน้อย 2% ของ “ผลกำไรสุทธิ” เฉลี่ยของ 3 รอบปีบัญชีก่อนหน้าในการดำเนินกิจกรรมตามนโยบาย CSR โดย
ในการดำเนินกิจกรรม CSR ให้บริษัทให้ความสำคัญกับพื้นที่โดยรอบที่ตั้งของบริษัทก่อน
และหากบริษัทใดไม่สามารถใช้จ่ายเงินตามจำนวนที่กำหนดได้ ให้คณะกรรมการบริษัทชี้แจงเหตุผลในรายงานตามมาตรา 134 (3) (โอ)
หมายเหตุ - สำหรับมาตรา 135 นี้ ให้ “ผลกำไรสุทธิ” เป็นไปตามวิธีการคำนวนที่ระบุในมาตรา 198
นอกจากนี้ รัฐบาลแนะนำให้บริษัทที่เข้าหลักเกณฑ์พิจารณาดำเนินกิจกรรมในชุมชนใกล้บริษัท/โรงงานนั้น ๆ โดยเน้นการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้
(1) คุณภาพชีวิต เช่น การขาดแคลนอาหาร การประชาสัมพันธ์เรื่องการสาธารณสุขที่ถูกต้อง และการผลิตน้ำดื่มที่สะอาดได้มาตรฐาน เป็นต้น
2) การศึกษาและทักษะอาชีพ
(3) ความเท่าเทียมกันทางเพศ การสนับสนุนบทบาทของสตรีอินเดีย การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่ด้อยโอกาส
(4) การปกป้องวัฒนธรรมและศิลปะของชาติ
5) สิทธิประโยชน์แก่ทหารผ่านศึกและกลุ่มแม่ม่ายจากสงคราม
6) การรักษาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืนและความสมดุลย์ของระบบนิเวศน์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า
7) การพัฒนาเทคโนโลยีในสถาบันศึกษา
8) กีฬาสำหรับชุมชนในชนบทและกีฬาสำหรับผู้พิการ
9) กองทุนบรรเทาทุกข์จัดตั้งโดยนายกรัฐมนตรีและกองทุนอื่น ๆ ที่จัดตั้งโดยรัฐบาล เพื่อพัฒนาสวัสดิการ เศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส
10) โครงการพัฒนาชนบท
หากไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรา 135 จะมีบทลงโทษตามมาตรา 134 (8) ดังนี้
(1) โทษปรับ 50,000 รูปี แต่ไม่เกิน 2.5 ล้านรูปี
(2) พนักงานบริษัทซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบอาจต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 50,000 รูปี แต่ไม่เกิน 500,000 รูปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 135 ของกฎหมาย Companies Act 2013 ได้ระบุชัดเจนว่า CSR ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์ทุกรายต้องปฏิบัติตาม โดยรัฐบาลอินเดียได้มอบหมายให้ Indian Institute of Corporate Affairs (IICA) (หน่วยงานอิสระภายใต้การการกำกับดูแลของกระทรวงกิจการธุรกิจ) เป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการคำแนะนำและจัดหลักสูตรอบรมการทำ CSR โดยคิดค่าบริการต่างกันไปในแต่ละหลักสูตร มีขอบเขตในการให้คำแนะนำตั้งแต่การทบทวนนโยบาย CSR ที่มีอยู่ การออกแบบนโยบาย CSR พร้อมกลไกบริหารความเสี่ยง การคัดเลือกทีมงาน CSR และจัดหลักสูตรการอบรมพนักงาน การสร้างกลไกติดตาม และประเมินผล ในกรณีที่บริษัทไม่มีบุคลกรเพียงพอในการทำกิจกรรม CSR IICA จะให้คำแนะนำในการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณแก่กองทุนของรัฐบาลหรือ NGO ที่เชื่อถือได้และทำงานตามมาตรฐานสากล
CSR ซึ่งรัฐบาลอินเดียพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงการพัฒนาทางด้านวัตถุ การสร้างรายได้แก่ชุมชน หรือการบริจาคเงินเท่านั้น แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกับชุมชนที่จะร่วมกันสร้างสรรค์นโยบาย/กิจกรรมที่เป็นประโยชน์และยั่งยืนต่อทั้งสองฝ่าย อีกทั้งการที่ผู้ประกอบการศึกษาข้อจำกัด/ปัญหาของชุมชนในพื้นที่เพื่อวางนโยบาย CSR ที่เหมาะสม ยังเป็นการช่วยให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความเข้าใจมากขึ้น
ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดกฎหมายฉบับดังกล่าวและข้อมูลเกี่ยวกับ IICA ได้ที่ www.mca.gov.in/Ministry/pdf/CompaniesAct2013.pdf และ www.iica.in/
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา
22 ตุลาคม 2557