คอลัมน์ อินไซด์ อินเดีย ตอน ภาพลักษณ์ไทยในอินเดีย มุมมองจากภาครัฐ
อ่านฉบับ PDF ไฟล์ได้ที่นี่
ภาพลักษณ์ไทยในอินเดีย… มุมมองจากหน่วยงานภาครัฐ
กระทรวงต่างประเทศก็เปรียบเสมือนนักประชาสัมพันธ์ของประเทศ สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ตามเมืองต่างๆ คือแขนขาในการเอื้อมเข้าไปให้ถึงคนท้องถิ่น และถ่ายทอดออกมาเป็นงานรูปธรรมที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย และกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ
นอกจากเป็นเบื้องหลังคอยสนับสนุนภาคเอกชนไทยในอินเดีย สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เมืองนิวเดลี ยังมีโอกาสได้เป็นด่านหน้าในการจัดงานแสดงสินค้า วัฒนธรรมไทย ซึ่งใช้ชื่อว่า เดสติเนชั่น ไทยแลนด์ ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งนอกจากจะได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยให้คนอินเดียได้รับทราบ งานนี้ยังได้ประสบการณ์ตรงหลายประการที่จะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย และอินเดีย
งาน เดสติเนชั่น ไทยแลนด์ จัดต่อเนื่องมาแทบทุกปีตั้งแต่ปี 2549 เน้นการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักและสร้างความนิยมในหมู่ชาวอินเดีย โดยเฉพาะชนชั้นที่มีกำลังซื้อหรือเศรษฐีใหม่ที่มีความนิยมในสินค้าคุณภาพจากต่างประเทศ และนิยมเสพวัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งเป็นค่านิยมของชนชั้นมีเงินทั่วโลก งานในครั้งนี้ยังเป็นการแสดงถึงความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐเช่น สำนักงานพาณิชย์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัทเอกชนไทย ทั้งบริษัทการบินไทย บริษัทร้อกเวิธ และบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท รวมทั้งร้านค้าไทยต่างๆ ที่ร่วมกันพิสูจน์ให้เห็นว่า การจะมาเจาะตลาดอินเดีย ควรมาแบบความร่วมมือยกแผง
จากกิจกรรมการถาม-ตอบ ปัญหาความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยภายในงาน สะท้อนให้เห็นว่าชาวอินเดียส่วนหนึ่งคุ้นเคยกับประเทศไทยพอสมควร พร้อมที่จะอ้ารับและเรียนรู้สิ่งต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทยด้วยความสนใจ
ในส่วนของ สินค้าและบริการของไทย ผู้จัดงานต้องการเสนอภาพให้เห็นว่าสินค้าไทยไม่ใช่มีแต่งานหัตถกรรม แต่ของชิ้นใหญ่ก็มีหลากหลาย และได้มาตรฐานระดับโลก เป็นกลยุทธ์ในการค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อสินค้าไทยว่า เล็กๆ ไทยไม่เป็นรองใครใหญ่ๆ ไทยก็ไม่แพ้ใครทำ
คนอินเดียถูกใจคุณภาพของสินค้าไทย เสื้อผ้า เครื่องประดับ ของตกแต่ง ขายดีแบบแทบไม่มีการต่อราคา เพราะบริเวณที่จัดงานนั้นเป็นย่านห้างหรู ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชนในกลุ่มคนมีฐานะ ดังนั้นนอกจากจะต้องคงมาตรฐานคุณภาพสินค้า ผู้ผลิตสินค้าไทยไม่ควรหยุดนิ่งกับการศึกษาพัฒนาการตลาดอินเดียซึ่งกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และมีนานาประเทศจับจ้องโอกาสในอินเดียอยู่ตลอดเวลา
นอกจากสินค้าที่ได้รับการประสานงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) กระทรวงพาณิชย์ในการนำมาแสดง ในปีนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังได้เชิญบริษัทเอกชนที่มีกิจการในอินเดียมาร่วมเปิดร้านเพื่อสร้างคุ้นเคยแบรนด์สินค้าให้กับชาวอินเดีย
ในงานนี้ บริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน ร้อกเวิธ ซึ่งเพิ่งมาตั้งโรงงานอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย และบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ซึ่งมีโครงการบ้านจัดสรรอยู่ทางตอนใต้ของอินเดียเช่นกัน ได้มีโอกาสแนะนำบริษัทให้ชาวอินเดียทางเหนือได้รู้จัก
ที่เดลีมีพนักงานนวดสปาชาวไทยของแท้อยู่เพียงไม่กี่เจ้า หนึ่งในนั้นคือ Sawasdee Thai Spa ซึ่งได้มาร่วมเปิดร้าน และได้รับความนิยมเข้าใช้บริการไม่ขาดสาย ในขณะที่สมุนไพรไทยอย่างอภัยภูเบศรก็ขอมาชิมลางตลาดอินเดียด้วย งานนี้จึงสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่าคนไทยหากไม่ยอมซะตั้งแต่แรก ก็ย่อมไม่แพ้ชาติใดในโลกที่จะมาบุกอินเดีย
โอกาสที่ควรจะมีการสานต่อนอกจากเรื่องเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของตกแต่ง คือ ความนิยมอาหารไทย ทั้งๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องความเข้มข้น แต่ยังหาร้านอาหารไทยแท้ในอินเดียได้น้อยมาก
แม้จะมีเสียงสะท้อนจากหลายส่วนว่า คนอินเดียยังไม่มีความนิยมอาหารไทยเท่าใดนัก เนื่องจากความคิดที่ว่าอาหารไทยมีความละเมียดหรูหรา วิธีการปรุงซับซ้อน และเน้นหนักไปทางเนื้อสัตว์ ไม่ถูกจริตของคนอินเดียที่อยู่ง่ายกินง่าย เน้นอาหารจากโปรตีนถั่ว และพืช ผสมกับเครื่องเทศแห้งๆ และน้ำ รับประทานกับแป้งไม่กี่อย่าง ครอบครัวก็พร้อมอิ่ม
แต่งานนี้ในช่วงการสอนทำอาหารไทยl โดยคณะอาจารย์จากหลักสูตรอุตสาหกรรมอาหารและการบริการ โรงเรียนการเรือน สถาบันราชภัฏสวนดุสิต ก็ได้พิสูจน์ให้คนอินเดียเห็นแล้วว่า อาหารไทยทำไม่ยาก เพียงเวลาแค่ครึ่งชั่วโมงที่สอนทำอาหาร คุณก็สามารถทำเมนูได้ถึง 3-4 อย่างแล้ว แม้กระทั่งพ่อครัว แม่ครัวของร้านอาหารไทยในอินเดียยังขอเข้าเรียนเพื่อให้สามารถปรุงอาหารไทยได้ใกล้เคียงต้นตำหรับที่สุด
นอกจากนี้การแกะสลักผัก ผลไม้ ยังเป็นที่ดึงดูดความสนใจของชาวอินเดียไม่น้อย หลายคนถามหามีดแกะสลัก ซึ่งไม่มีขายในอินเดีย ดังนั้น การพัฒนาหลักสูตร ตำรา อาหารไทย การแกะสลัก เพื่อเจาะตลาดอินเดีย น่าจะเป็นช่องทางที่เติบโตได้ และที่น่าจะเข้ากันได้ดีก็คือ เครื่องเทศ น้ำจิ้ม ซอส เครื่องปรุงแบบไทย ที่ชาวอินเดียหลายรายแม้จะอยากปรุงอาหารไทย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะหาซื้อได้ที่ไหน แค่ไม่มีข้าวคั่ว ก็ไม่มีลาบไทยแท้ให้ทานในอินเดียแล้ว
ปัจจุบันมีน้ำพริก น้ำจิ้มไทย วางขายในร้านซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่เป็นการนำเข้าผ่านตัวแทนอินเดีย ยังไม่มีคอนเซ็ปต์การเจาะตลาดที่ชัดเจน เป็นสินค้าสำหรับผู้ที่รู้จักอาหารไทยอยู่แล้ว ดังนั้น การให้ความรู้ และการประสานงานเพื่อให้อาหารไทย “ได้เกิด” ในอินเดีย จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งทั้งสำหรับภาครัฐ และเอกชน
วัฒนธรรมและการแสดง ในปีนี้ สำนักงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ กรุงนิวเดลี ตีโจทย์ความนิยมความบันเทิงไทยของคนอินเดียด้วยการนำการแสดงคาบาเร่ต์จากพัทยา นักแสดงคาบาเร่ต์อัลคาซาร์หนุ่มและสาวมากความสามารถกว่า 9 ชีวิต มากกว่าทุกครั้งที่คณะเดินทางออกไปแสดงต่างประเทศ เดินทางลัดฟ้ามาโชว์ให้คนอินเดียชมเป็นพิเศษตลอด 3 คืนของงาน เรียกความสนใจจากคนทั่วไปทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจมาชมกว่าหมื่นคน
คณะนักแสดงยังเอาใจผู้ชมชาวอินเดียด้วยการจัดการแสดงโชว์เพลงอินเดียยอดนิยม เรียกชาวอินเดียที่เดินตามท้องถนนให้เหลียวหลังกลับแทบไม่ทัน ด้วยจังหวะที่คุ้นหู แต่เมื่อมองขึ้นไปบนเวที เห็นป้ายงาน เดสติเนชั่น ไทยแลนด์ ก็พากันเกาหัวเป็นแถวๆ คราวนี้ เชื่อหรือยังว่าไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้
จากตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเยือนไทยปีละหลายแสนคน (ราว 750,000 คน ในปี 2553) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยใช้ความใกล้ชิดกับชาวอินเดีย และตีโจทย์ความนิยมคนอินเดียได้ตรงเป้า โดยจากการประเมินหลังงาน ผู้เข้าร่วมงานให้คะแนนความชื่นชมการแสดงบนเวทีเป็นอันดับหนึ่ง นัยว่าสร้างความตื่นตาตื่นใจและเร้าใจแก่ชาวอินเดียที่นิยมการแสดงอลังการและสนุกสนาน
อย่างไรก็ดี เมืองนิวเดลี ยังคงมีความละเอียดอ่อนในเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งยังไม่ทันสมัยเท่ากับเมืองท่าชายฝั่งและศูนย์กลางการค้าการลงทุนเช่นมุมไบ รูปแบบการแสดงจึงอาจต้องปรับเปลี่ยนให้มีความรัดกุมขึ้น อีกทั้งการเป็นการแสดงกลางแจ้งจึงต้องมีการรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดี
การบินไปประเทศไทยใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง คนอินเดียที่มีเงิน แม้อาจจะไม่มากนัก ก็สามารถบินไปสัมผัสประเทศไทยได้ด้วยตนเองแล้ว และที่สำคัญชาวอินเดียนิยมเดินทางเป็นหมู่คณะ ดังนั้น โอกาสสำหรับการท่องเที่ยวไทยทั้งบริษัททัวร์ โรงแรม บริษัทจัดกิจกรรมสันทนาการ ยังมีอยู่มากในการเจาะตลาดอินเดีย ราว 80.5% ของประชากร 1.2 พันล้านคนนับถือศาสนาฮินดู ตามมาด้วย อิสลาม แม้จะมีเรื่องพิธีกรรมอยู่มาก แต่งานในครั้งนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าใครๆ ก็ชอบความบันเทิง ไม่อย่างนั้นธุรกิจบันเทิงของอินเดียคงไม่เติบโตจนมีมูลค่า 1.44 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553 ที่ผ่านมา
มาถึงตรงนี้ ถึงเวลาที่ภาครัฐและเอกชนที่สนใจอินเดียควรระบุกลุ่มสินค้า กลุ่มเป้าหมายเพื่อความชัดเจนในการทำตลาด ถึงเวลาที่คนไทยต้องแสดงศักยภาพ แบรนด์ไทยต้องแสดงความเป็นสากลให้ตลาดอินเดียได้รับรู้ โดยเฉพาะตลาดบนของผู้ที่มีกำลังซื้อและสนใจสินค้าระดับสูงทั้งหลาย เช่น Naraya ที่คนอินเดียถามหาในงาน เดสติเนชั่น ไทยแลนด์
รวมถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความสามารถของคนไทยทั้งด้านการแสดงและการสร้างตนเองให้ก้าวไกลระดับโลกและในธุรกิจบริการที่แหวกแนวออกไป เนื่องจากปัจจุบันนี้ คนอินเดียมองคนไทยในแง่ของคนยิ้มง่าย ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยตอบโต้เท่าไหร่ อาจจะด้วยส่วนหนึ่งเพราะภาษาอังกฤษของเรายังไม่ถึงขั้นจะสื่อสารได้ถึงใจสไตล์อินเดีย
สำหรับแบรนด์แท้ๆ ที่อยู่ในคนไทยทั้งหลายนั้น ก็ควรจะรักษาต่อไป ความน่ารัก ยิ้มแย้มแจ่มใส และความรักสงบแบบชาวพุทธของคนไทยนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้คนอินเดียหรือคนชาติไหนๆ ประทับใจเสมอมา ความเป็นผู้ไม่มีพิษมีภัยหรือถ้อยทีถ้อยอาศัย ก็ทำให้งาน เดสติเนชั่น ไทยแลนด์ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้
มองไปข้างหน้าการจะตอบโจทย์อินเดียที่กว้างกว่าแม่น้ำคงคาให้ชัดเจนและสามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าจะมุ่งไปสู่ทิศทางใด และเรามีของดีอะไรอีกบ้างที่จะนำมาอวดแก่ชาวอนุทวีปนี้ได้ เป็นหนึ่งในภารกิจที่ภาครัฐโดยสถานเอกอัครราชทูตฯ พร้อมจะนำทุกภาคส่วนมุ่งไปยังเป้าหมาย
ขอเพียงความพร้อมจากภาคเอกชนเท่านั้น ที่จะมองข้ามอุปสรรคต่างๆ และพร้อมจะลุยร่วมกัน ที่สำคัญที่ทุกท่านห้ามลืม ก็คือข้อคิดเห็นหรือข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์จากทุกฝ่ายที่สามารถทำให้เกิดงานที่เป็นประโยชน์และคุ้มค่าขึ้นได้ เชิญแวะไปเยี่ยมเยียนหรือพูดคุยกันที่ www.thaiindia.net ได้เสมอนะครับ
คณิน บุญญะโสภัต
ทีม thaiindia.net
เรื่องใกล้เคียง
กรุงเทพธุรกิจ: อินไซด์อินเดีย (ตอน 1) กระต่ายจีน vs กบอินเดีย
กรุงเทพธุรกิจ: อินไซด์อินเดีย (ตอน 2) ตลาดอินเดีย อยู่ตรงไหน
กรุงเทพธุรกิจ: อินไซด์ อินเดีย (ตอน 3) ไฮเดอราบัด โอกาสลงทุนธุรกิจไทย