เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายชลิต มานิตยกุล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี ซึ่งมารับตำแหน่งทูตไทยประจำอินเดียคนใหม่ตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว ได้ฤกษ์ออกเดินทางพบปะเอกชนไทยทั่วอินเดียเป็นครั้งแรกที่รัฐมหาราษฎระ ทางตะวันตกของอินเดีย
งานนี้ สถานกงสุลใหญ่ที่เมืองมุมไบ นำโดยกงสุลใหญ่ณัช ภิญโญวัฒนชีพ นำทีมประเทศไทย ณ เมืองมุมไบพร้อมเพรียงให้การต้อนรับทูตชลิตอย่างอบอุ่น
กิจกรรมแรกที่กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบจัดให้ทูตไทยคนใหม่ คือจัดการประชุมทีมประเทศไทยเมืองมุมไบ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานการค้า สำนักงานบีโอไอ สำนักงาน ททท. รัฐวิสาหกิจอย่างการบินไทยและแบงก์กรุงไทย
ในโอกาสนี้ เพื่อให้ทูตไทยได้พบกับเอกชนไทยรายใหญ่ที่ประกอบธุรกิจในอินเดีย สถานกงสุลใหญ่ได้จัดให้การประชุมครั้งนี้มีขึ้นที่สำนักงานใหญ่บริษัทอิตาเลียน-ไทย โดยมีนายอดุลย์ สารบัญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ITD Cementation เข้าร่วมการประชุมจากภาคเอกชน
หัวหน้าสำนักงานราชการและเอกชนได้บรรยายสรุปภารกิจภาพรวมของตนเองที่ดูแลอินเดียภาคตะวันตก โดยทูตไทยประกาศนโยบายมุ่งส่งเสริมการค้าการลงทุนไทย-อินเดีย โครงการเชื่อมโยง (Connectivity) และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน พร้อมร่วมมือกับทีมประเทศไทยร่วมกันมองไปข้างหน้า ตั้งเป้าต้องการเห็นไทยอยู่ในจุดใดในอีก 3-5 ปี
โครงการ Delhi-Mumbai Industrial Corridor (DMIC)
ทูตชลิตยังได้ถือโอกาสนี้ขอรับฟังความเห็นของทีมประเทศไทยเมืองมุมไบที่มีภารกิจหลักดูแลด้านการค้าการลงทุน เกี่ยวกับโครงการ Delhi-Mumbai Industrial Corridor (DMIC) ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลอินเดียและญี่ปุ่นลงขันร่วมกันเพื่อสร้างระเบียงอุตสาหกรรมเชื่อมต่อกรุงนิวเดลีและมุมไบ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสร้างเมืองขึ้นมาใหม่จำนวนมาก จึงน่าจะเป็นโอกาสของเอกชนไทยที่จะเข้าไปร่วม ทั้งในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและที่อยู่อาศัย
คุณอดุลย์ สารบัญจาก ITD กล่าวว่า DMIC เป็นโครงการในไม่กี่โครงการที่ญี่ปุ่นร่วมลงเงินทุนและจะมีบริษัทเอกชนญี่ปุ่นรับงานด้วย เอกชนไทยน่าจะมีโอกาสจากการรับงาน subcontract ต่อจากบริษัทญี่ปุ่นที่เข้าร่วมโครงการนี้
โครงการ 1 ทูต 3 ผลิตภัณฑ์
ด้านการส่งเสริมการค้า ทูตไทยแจ้งที่ประชุมทราบว่า สถานทูตไทยจะเดินหน้าส่งเสริมสินค้าตามโครงการ 1 ทูต 3 ผลิตภัณฑ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้แก่ 1) ผลไม้/กล้วยไม้ไทย 2) ยางพารา 3) สินค้าไลฟ์ไสตล์ ซึ่งก็ตรงกับสินค้าเป้าหมายของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณอดุลย์ โชตินิสากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สินค้ายางพาราของไทยนั้นมี 2 ส่วน ได้แก่ ยางพาราธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จากยางพารา สำหรับยางพาราธรรมชาตินั้น ตลาดอินเดียค่อนข้างมีข้อจำกัดเพราะถูกควบคุมโดยภาครัฐ ปริมาณการนำเข้ายางจากต่างประเทศไม่แน่นอน อยู่ที่ปริมาณความต้องการยางในประเทศ
การส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากยางจึงน่าจะได้ผลดีกว่า อาทิการส่งเสริมให้เอกชนอินเดียไปลงทุนผลิตภัณฑ์ยางพาราในไทยเพื่อใช้ยางไทย เช่น สนับสนุนให้บริษัทยางรถยนต์รายใหญ่ของอินเดียอย่าง Apollo ไปตั้งโรงงานผลิตในไทย ซึ่งคุณกนกพร ชิตปาล ผู้อำนวยการสำนักงานบีโอไอก็นับที่จะไปศึกษาเรื่องนี้ต่อราะถูกควบคุมโดยภาครัฐ ปริมาณการนำเข้ายางจากต่างประเทศไม่แน่นอน อยู่ที่ปริมาณความต้องการยางในประเทศ
กางส่งเสริมการลงทุนของไทยในอินเดีย
การประชุมครั้งนี้ ยังถือเป็นการประชุมคณะทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนไทยในอินเดีย ซึ่งทูตไทยคนก่อนได้ตั้งขึ้นมาตามดำริของนายกรัฐมนตรีเมื่อครั้งมาเยือนอินเดียในปี 2555
สำนักงานบีโอไอในฐานะหน่วยงานหลักและเลขานุการคณะทำงานได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวกภาคเอกชน โดยในประเด็นการช่วยจัดหารพื้นที่ให้เอกชนไทยไปลงทุน คุณกนกพรแจ้งว่า บีโอไอที่มุมไบได้ช่วยประสานจัดหาที่ดินจากรัฐบาลมัธยประเทศ 10 เอเคอร์ เพื่อสร้างโกดังเก็บวัสดุเครื่องจักรตามคำขอของ ITD ซึ่งขณะนี้ ITD อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะใช้พื้นที่ดังกล่าวหรือไม่
ในส่วนปัญหาที่คาราคาซังมานาน อย่างการจัดทำ คตล.ประกันสังคม (SSA) เพื่อแก้ปัญหาที่คนงานไทยต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมของอินเดียโดยไม่สามารถเบิกคืนได้จนกว่าจะมีอายุ 58 ปี ซึ่งสถานะล่าสุด กระทรวงแรงงานยังไม่ได้ส่งร่างความตกลงให้ฝ่ายอินเดียพิจารณาตามกำหนดเดิมคือภายในปี 2556 ขณะที่รัฐสภาก็ยังไม่ได้ทำการพิจารณาแก้ไข พรบ. ประกันสังคมเพื่อให้ไทยสามารถลงนามความตกลงดังกล่าวกับอินเดียได้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทูตไทยขอให้เป็นประเด็นสำคัญลำดับต้นๆ และรับที่จะไปประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางเร่งรัดกระบวนการให้ได้เร็วที่สุด เพราะทราบดีว่า การต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนของอินเดียด้วย ทำให้ค่าใช้จ่ายของเอกชนไทยในการทำธุรกิจสูงขึ้น
การเข้าร่วมงาน Vibrant Gujarat Summit 2015
ทูตไทยยังได้ยกประเด็นเรื่องที่ไทยได้รับเชิญโดยรัฐคุชราตให้เข้าร่วมงาน Vibrant Gujarat Summit 11-13 ม.ค. 2558 ในฐานะ Partner Country ร่วมกับญี่ปุ่น อังกฤษ และแคนาดา โดยทูตชลิตแจงให้เห็นประโยชน์ของการเข้าร่วมงาน จากการเจราธุรกิจและสร้างเครือข่ายกับเอกชนจากทั่วโลกรวมถึงการได้ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในงานที่มีความสำคัญระดับประเทศของอินเดีย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะร่วมมือกับสำนักงานบีโอไอในการเชิญชวนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานนี้ต่อไป
เยี่ยมธุรกิจ CPF โรงงานฟักไข่เมืองอาหมัดนคร
ภายหลังการประชุม สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ ได้นำทูตไทยเดินทางไปยังเมืองอาหมัดนคร 70 กม. จากเมืองปูเน่ เพื่อเยี่ยมชมโรงงานฟักไข่ของบริษัท CP (India) Private Ltd. ที่เมืองอาหมัดนคร โดยมีนายเทอดพงศ์ พานิชรักษาพงศ์ กรรมการผู้จัดการ CP (India) ให้การต้อนรับ
คุณเทอดพงษ์ได้บรรยายสรุปให้ทูตชลิตทราบถึงธุรกิจของ CP ที่ไดไปลงทุนที่อินเดียตั้งแต่ปี 1997 โดยได้เริ่มลงทุนที่เมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑูในธุรกิจสัตว์น้ำ (เลี้ยงกุ้งและผลิตอาหารสัตว์น้ำ) ต่อมาขยายไปทำธุรกิจสัตว์บกที่เมืองบังกาลอร์ รัฐกรณาฏกะ และในภูมิภาคอื่นๆ ได้แก่ รัฐปัญจาบ รัฐเวสต์เบงกอล รัฐอานธรประเทศ (ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ) โดยเริ่มทำธุรกิจสัตว์บกที่รัฐมหาราษฏระที่เมืองอาหมัดนครและนาสิกเมื่อปี 2007 โดยบริษัทเข้าไปลงทุนทั้งหมดเอง 100% และได้ลงทุนในอินเดียไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท
ล่าสุด CP ได้ขยายไปทำธุรกิจอาหาร โดยได้นำ Five Star Chicken (ไก่ทอดห้าดาว) ไปเปิดตลาดในอินเดีย มีสาขา (outlet) ทั้งลักษณะทำเองและขายแฟรนไชส์แล้ว 65 สาขาในบังกาลอร์ 15 สาขาในเจนไน และกำลังหาที่เปิดสาขาในเมืองมุมไบเร็วๆ นี้
สำหรับธุรกิจที่รัฐมหาราษฏระ นอกจากมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ (Feed) ยังทำธุรกิจเลี้ยงไก่เนื้อครบวงจร เริ่มจากการนำไข่ไก่จากพ่อแม่พันธุ์อินเดียไปฟักในโรงฟัก เมื่อได้ลูกไก่แล้วจึงนำไปจ้างคนอินเดียท้องถิ่นเลี้ยงลักษณะ contract farming จนได้ไก่ที่โตเต็มไวจึงขายไก่เป็นให้พ่อค้าคนกลางเพื่อจำหน่ายในตลาดต่อไป นายเทอดพงษ์ฯ กล่าวว่า ธุรกิจไก่เนื้อมีศักยภาพมากในอินเดีย เพราะปัจจุบันคนอินเดียกินเนื้อไก่เฉลี่ย 2.5 กก./คน/ปี ซึ่งยังน้อยมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปัญหาสำคัญที่ CP ประสบในการทำธุรกิจในอินเดียคือปัญหาแรงงาน ซึ่งนอกจากมีสหภาพที่เข้มแข็งแล้ว ยังมีวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่ตรงกับหลักการของบริษัท เช่น เจ้านายอิจฉาลูกน้อง ไม่สอนงาน คนที่เรียนรู้งานจนเชี่ยวชาญแล้วก็มักลาออกเพื่อไปหาเงินเดือนที่สูงกว่า ไม่มีความรู้สึกผูกพันธ์กับองค์กร จากนั้นนายเทอดพงษ์ฯ ได้นำทูตไทยและคณะเยี่ยมชมโรงงานฟักไข่อันทันสมัยที่ CP ลงทุนก่อสร้างโดยใช้เครื่องจักรจากต่างประเทศ สามารถฟักลูกไก่ได้สัปดาห์ละ 4.8 แสนตัว
จากนี้ ทูตชลิตเตรียมที่จะล่องใต้ไปยังเมืองเจนไนและบังกาลอร์ ศูนย์กลางสำคัญของการลงทุนของเอกชนไทยในอินเดีย เพื่อพบปะเอกชนและหาแนวทางส่งเสริมผลประโยชน์เอกชนไทยกันต่อไป
ประพันธ์ สามพายวรกิจ
รายงานจากกรุงนิวเดลี
17 มกราคม 2557