ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอน 21)
มองอินเดียใหม่: ตอน 21 เอกชนไทยลุยอินเดียต่อ หวังรัฐช่วยกะเทาะอุปสรรค
เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยกับการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะแขกคนสำคัญของงานวันชาติอินเดีย อย่างน้อยก็เป็นใบเบิกทางถึงระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ซึ่งภาครัฐและภาคธุรกิจน่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อ
นอกจากบริษัทไทยที่เข้ามารุกในอินเดียจะเดินหน้าขยายกิจการเพิ่ม ยังมีบริษัทไทยหน้าใหม่เริ่มเข้ามาชิมลางลงทุนในตลาดอินเดีย นอกเหนือไปจากการซื้อมาขายไปตามงานเทรดแฟร์ซึ่งจัดตามเมืองต่างๆ ในอินเดีย ปีละหลายครั้ง โดยกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์
บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งดำเนินธุรกิจในอินเดียมาเกือบ 20 ปี มีโรงงานหลายแห่งทางตอนใต้ของอินเดีย ได้เริ่มขยายธุรกิจขึ้นทางตะวันออก ไต่ไปทางเหนือ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ฯ เดินหน้าประมูลงานก่อสร้างในอินเดียต่อเนื่อง บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทฯ บริษัทร้อกเวิธฯ บริษัทศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ฯ บริษัทเดลต้า อิเล็คทรอนิกส์ฯ ล้วนยังลุยทำธุรกิจในอินเดียต่อ แม้จะมีอุปสรรคระหว่างทางพอสมควร ล่าสุดบริษัท ตะวันออกโปลีเมอร์ฯ ก็ร่วมลงทุนกับบริษัทอินเดีย โดยมีแผนตั้งโรงงานผลิตฉนวนหุ้มท่อปรับอากาศเป็นโครงการแรก
แม้กระทั่งการบินไทย และบางกอกแอร์เวย์ส ต่างขยับขยายปรับเที่ยวบินและเส้นทางการบินเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอินเดียที่ล่าสุดเข้าเมืองไทย 916,787 คน หรือเติบโต 20.6% ในปี 2554 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากไทยมายังอินเดีย ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขทางการล่าสุด การลงทุนตรงในอินเดียจากประเทศไทยมีมูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆจาก 14.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 มาเป็น 61.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2553
ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 มีเงินลงทุนโดยตรงจากประเทศไทย 56.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินลงทุนตรงจากอินเดียเข้าประเทศไทย 36.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนตรงจากต่างประเทศเข้าสู่อินเดียโดยรวมอยู่ที่ 23,700 ล้านดอลลาร์ เติบโต 36% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553 ประเทศที่มีเงินลงทุนโดยตรงในอินเดียมากที่สุดคือ มอริเชียส สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น
แม้ว่าอินเดียจะเป็นหนึ่งในโอกาสทางธุรกิจ แต่อุปสรรคก็ไม่ใช่ธรรมดา โดยรวมหลายบริษัทประสบปัญหาการขอวีซ่าให้กับคนไทยไปทำงานที่อินเดีย นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขเงินเดือนขั้นต่ำ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี และการสมทบเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 12% จากนายจ้าง และ12% จากลูกจ้าง โดยสามารถได้รับเงินคืนเมื่ออายุ 58 ปี เหล่านี้ล้วนเป็นกำแพงสกัดทักษะแรงงานไทยในระดับหนึ่ง
ถึงกระนั้น แม้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางการอินเดียแล้ว ในบางครั้งการขอวีซ่าการทำงานยังเกิดความล่าช้าอย่างหาเหตุผลไม่ได้ ซึ่งส่งผลให้แผนงานของบริษัทยิ่งล่าช้าออกไป
บางบริษัทประสบกับปัญหาการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับบริษัทท้องถิ่น และความไม่แน่นอนในการบังคับใช้กฎระเบียบและการตีความกฎหมายทำเอาหลายบริษัทถึงกับกุมขมับ ฟังดูอาจจะคุ้นๆ กับบ้านเรา แต่ดีกรีต่างกันพอสมควร
ปัญหาหลักๆ ดังกล่าว ก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้น อันนำมาซึ่งการจำกัดขีดความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทท้องถิ่น แนวคิดเบื้องต้นคือการเข้ามาอินเดียแบบเป็นกลุ่มให้ครอบคลุมหลายธุรกิจ สร้างอาณาจักรเล็กๆ ซึ่งมีอำนาจในการต่อรองเรื่องการจัดซื้อจัดหาที่ดิน และการดูแลต่างๆ เพื่อทำให้การดำเนินธุรกิจมีความราบรื่นขึ้น แต่แนวคิดดังกล่าวจะเป็นรูปธรรมได้มากขนาดไหน คงเป็นหนังยาวที่ต้องติดตามดู
ทีมเจรจากรอบข้อตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย กำลังจะเดินทางมาอินเดียอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์นี้เพื่อเร่งหาข้อสรุปหลังจากเจรจามาแล้ว 22 รอบนับตั้งแต่เริ่มลดภาษี Early Harvest Scheme (82 รายการ) เมื่อปี 2547 และลดภาษีเป็น 0% ในปี 2549 ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เตรียมจะมาเปิดสำนักงานแห่งแรกที่มุมไบภายในครึ่งปีหลังของปี 2555 นี้ ล่าสุดทางการอินเดียอนุญาตให้เอกชนต่างชาติสามารถถือหุ้นร้านค้าปลีกประเภทสินค้ายี่ห้อเดียว (single brand) ได้เต็ม 100% จึงนับเป็นสัญญาณอันดีที่น่าจะช่วยภาคเอกชนไทยได้มากขึ้น
ปิยรัตน์ เศรษฐศิริไพบูลย์
บทความใกล้เคียง
มองอินเดียใหม่ (ตอน 1) เปิดตัวคอลัมน์มองอินเดียใหม่
มองอินเดียใหม่ (ตอน 2): งมขุมทรัพย์กับพิธีกรรมของชาวอินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 3): เปิดเสรีธุรกิจค้าปลีก หนังยาวที่ไทยอย่ามัวแต่รอดู
มองอินเดียใหม่ (ตอน 4): เมื่อชาวอินเดียเปลี๊ยนไป๋
มองอินเดียใหม่ (ตอน 5): ขุมทองยางไทยกับตลาดกำลังโตในอินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 6): เอกชนไทยบุกอินเดีย ภาครัฐช่วยได้ตรงไหน
มองอินเดียใหม่ (ตอน 7): มองอินเดียเพียงด้านเดียว ปิดโอกาสรู้จักโลกครึ่งใบ
มองอินเดียใหม่ (ตอน 8): การบริหาร Mr. & Mrs. Right หนึ่งตัวแปรสำคัญทำธุรกิจในอินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 9): เบียร์ไทยที่ไปไกลทั่วโลก แต่มาไม่ถึงอินเดียซะทีเดียว
มองอินเดียใหม่ (ตอน 10): โอกาสรวยกับร้านอาหารไทยในอินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 11): ทำการบ้านล่วงหน้า กับดิวาลี ปีใหม่อินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 12): Destination Thailand ย้ำความนิยมไทยในอินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 13): จับตามองการมาของ “สตาร์บัคส์” ศึกล้มเจ้า (ถิ่น) หรือไม้ประดับเศรษฐีอินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 14): ควันหลง Destination Thailand 2011
มองอินเดียใหม่ (ตอน 15): เมื่อคนอินเดียเริ่มออกท่องเที่ยว
มองอินเดียใหม่ (ตอน 16): จับตาดูสภาอินเดียผ่านร่างกฎหมาย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 17): 2012 ปีแห่งความท้าทาย หวังนโยบายรัฐหนุน
มองอินเดียใหม่ (ตอน 18): อินเดียมองไทย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 19): สัญญาณเชิงบวกจากตลาดอินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 20): อินเดียรุกโปรโมทนแหล่งท่องเที่ยวอิงพุทธศาสนา