ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ ตอน 2012 ปีแห่งความท้าทายหวังนโยบายรัฐหนุน
ขณะที่หลายคนกำลังฉลอง ท่องเที่ยว หรือใช้เวลากับครอบครัวในเทศกาลแห่งความสุขช่วงคริสต์มาสและปีใหม่นี้ มดงานส่วนหนึ่งในอินเดียยังคงทำงานกันต่อไป ท่ามกลางความหนาวเย็นอุณหภูมิเลขตัวเดียว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย พร้อมปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เดินทางเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 26-28 ธันวาคม 2554 เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-อินเดีย ครั้งที่ 6 ซึ่งอินเดียเป็นเจ้าภาพ
การประชุมนี้ทั้งไทยและอินเดียสลับกันเป็นเจ้าภาพ โดยครั้งที่ผ่านมาไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2550 การเรียกประชุมแต่ละครั้งไม่มีการกำหนดเวลาแน่นอน ขึ้นอยู่กับประเด็นที่สองประเทศจะผลักดัน จึงเป็นการประชุมระดับทวิภาคีที่ครอบคลุมภาพกว้างที่สุดระหว่างสองประเทศ และการมาเยือนของคณะไทยในครั้งนี้ จะตามมาด้วยการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2555 ในฐานะแขกวันชาติ
อินเดียต้องการอะไรจากประเทศเล็กๆ อย่างไทย ที่มีสินค้าและบริการใกล้เคียงกัน? นอกจากประโยชน์ด้านการค้า การลงทุนและผลประโยชน์ของชาวอินเดียในประเทศไทย อินเดียกำลังกรุยทางเพื่อเป็นสมาชิกถาวรในองค์การสหประชาชาติ ดังนั้นจึงมุ่งกระชับสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ยังไม่มีท่าทีชัดเจนอย่างไทย
นายกรัฐมนตรีไทยมาเยือนอินเดีย 6 ครั้งในระหว่างปี 2544 - 2554 ในขณะที่มีนายกรัฐมนตรีจากอินเดียมาเยือนไทย 3 ครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังไม่นับรวมการเหย้า-เยือนซึ่งนับครั้งไม่ถ้วนระหว่างสองประเทศจากคณะอื่นๆ เช่น กรมเจรจาการค้า กรมสรรพากร ศาลยุติธรรม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ฯลฯ
แม้จะดูมีความกระตือรือร้นในเชิงการค้าระหว่างประเทศ แต่ในภาพที่สะท้อนออกมาเชิงธุรกิจและภาคประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อินเดียดูจะยังไม่คืบหน้าไปไหน แตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างความสัมพันธ์ไทย-จีน
ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งลงนามข้อตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหยวน-บาท กับธนาคารกลางจีน วงเงิน 7 หมื่นล้านหยวนหรือราว 3.2 แสนล้านบาท รองรับธุรกรรมการค้าระหว่างกัน ในขณะที่ยังไม่มีข้อตกลงดังกล่าวกับทางธนาคารกลางอินเดีย สะท้อนให้เห็นถึงจำนวน/มูลค่าธุรกรรมที่บริษัทไทยและอินเดียมีระหว่างกันนั้นน้อยมาก ไม่ติดแม้ 10 อันดับแรก จากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย 5 ประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้าสูงสุดได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และมาเลเซีย ในขณะที่ส่งออกมากที่สุดไปที่จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และมาเลเซีย หากรวมมูลค่าทั้งนำเข้าและส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และสิงคโปร์
อินเดียจะยังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ อัตราการเติบโตที่โตแบบชะลอตัวลง (แต่คาดว่าคงอยู่ระดับเกิน 7%) และความไม่แน่นอนเรื่องกฎระเบียบ ซึ่งล่าสุดร่างกฎหมายบริษัทฉบับใหม่ (Companies Bill) ก็ถูกตีกลับให้ไปทำรายละเอียดเพิ่ม วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปและเศรษฐกิจชะลอตัวในสหรัฐอเมริกา อาจส่งผลให้การอ่อนค่าของเงินรูปีดำเนินต่อไป แต่นั่นเป็นปัญหาภายในที่ภาครัฐอินเดียมีหน้าที่ต้องดำเนินการแก้ไข อย่างไรก็ตาม อินเดียยังคงเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในเวทีโลกในปี 2012 และอีกหลายปีข้างหน้า
การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดียที่ค้างคาอยู่หลังจากเจรจามาแล้ว 22 รอบ และประเด็นข้อติดขัดของการทำธุรกิจระหว่างสองประเทศน่าจะได้รับการปลดล็อกในระดับที่มีนัยสำคัญเสียที โดยประเด็นสำคัญที่ยืดเยื้อมานาน คือเรื่องเงื่อนไขการออกวีซ่าการทำงานให้นักธุรกิจไทย ซึ่งมีกฎระเบียบเรื่องเงินเดือนขั้นต่ำ 25,000 ดอลลาร์ต่อปี และการสมทบเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทในอัตรา 12% โดยผู้สมทบไม่สามารถไถ่ถอนได้จนกว่าจะอายุ 58 ปี
หากสาธารณะไม่ได้เห็นอะไรเป็นรูปธรรมจากการมาเยือนครั้งแล้วครั้งเล่าของฟากไทย การมาเยือนของบุคคลสำคัญก็คงเป็นได้เพียงการตอกบัตรลงบันทึกประวัติการเดินทางเท่านั้น คนไทยเองก็ควรมีส่วนร่วมมากขึ้นในการติดตามการดำเนินงานของภาครัฐ อย่างน้อยตอนนี้ก็มีเว็บไซต์ thaiindia.net เป็นหนึ่งช่องทางในการรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกท่าน
ติดตามอ่านบทความต้นฉบับได้ ที่นี่
ปิยรัตน์ เศรษฐศิริไพบูลย์
บทความใกล้เคียง
มองอินเดียใหม่ (ตอน 1) เปิดตัวคอลัมน์มองอินเดียใหม่
มองอินเดียใหม่ (ตอน 2): งมขุมทรัพย์กับพิธีกรรมของชาวอินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 3): เปิดเสรีธุรกิจค้าปลีก หนังยาวที่ไทยอย่ามัวแต่รอดู
มองอินเดียใหม่ (ตอน 4): เมื่อชาวอินเดียเปลี๊ยนไป๋
มองอินเดียใหม่ (ตอน 5): ขุมทองยางไทยกับตลาดกำลังโตในอินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 6): เอกชนไทยบุกอินเดีย ภาครัฐช่วยได้ตรงไหน
มองอินเดียใหม่ (ตอน 7): มองอินเดียเพียงด้านเดียว ปิดโอกาสรู้จักโลกครึ่งใบ
มองอินเดียใหม่ (ตอน 8): การบริหาร Mr. & Mrs. Right หนึ่งตัวแปรสำคัญทำธุรกิจในอินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 9): เบียร์ไทยที่ไปไกลทั่วโลก แต่มาไม่ถึงอินเดียซะทีเดียว
มองอินเดียใหม่ (ตอน 10): โอกาสรวยกับร้านอาหารไทยในอินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 11): ทำการบ้านล่วงหน้า กับดิวาลี ปีใหม่อินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 12): Destination Thailand ย้ำความนิยมไทยในอินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 13): จับตามองการมาของ “สตาร์บัคส์” ศึกล้มเจ้า (ถิ่น) หรือไม้ประดับเศรษฐีอินเดีย
มองอินเดียใหม่ (ตอน 14): ควันหลง Destination Thailand 2011
มองอินเดียใหม่ (ตอน 15): เมื่อคนอินเดียเริ่มออกท่องเที่ยว
มองอินเดียใหม่ (ตอน 16): จับตาดูสภาอินเดียผ่านร่างกฎหมาย